นรกว่างเมื่อไร
วันที่ 20 ธันวาคม 2546 เวลา 16:00 น.
สถานที่ : บริเวณโบราณสถานสนามชัย ต.สนามชัย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ บริเวณโบราณสถานสนามชัย อ.เมืองสุพรรณบุรี

เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖ (บ่าย)

นรกว่างเมื่อไร

 

         ถ่ายกล้องอะไรนั่น ให้หยุด ให้หนีให้หมด อย่ามาเป็นเทวทัตทำลายศาสนา ทำลายธรรม คนจะฟังธรรมทั่วแผ่นดินเวลานี้ อันนี้ปั๊บเข้าไปทีเดียวเท่านั้น การเทศนาว่าการล้มเหลวไปหมดนะ ให้รู้ ไปที่ไหนเคยบอกทุกที วันนี้มีดุเอาบ้าง ถ้าว่าดุนะ เพราะเจอเสมอๆ เสียธรรม ให้สงบ เวลาเทศนาว่าการ อย่ามีอะไรแสดงขึ้นมา เรื่องสำคัญก็คือ การฟังอรรถฟังธรรมนั่นแหละ

         วันนี้เป็นวันมหามงคลแก่พี่น้องชาวจังหวัดสุพรรณบุรีของเรา โดยมีหลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก ประธานฝ่ายสงฆ์ และคุณกวีรัตน์ อรุณทัต รองผู้ว่าราชการจังหวัด คุณถาวร จำปาเงิน อบต.สนามชัย เป็นประธานเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของพวกเราทั้งหลาย ที่บำเพ็ญมหากุศลในครั้งนี้ วันนี้เป็นโอกาสวาสนาอำนวยอย่างมากทีเดียว ที่เราทั้งหลายได้สละเวล่ำเวลาหน้าที่การงาน มาบำเพ็ญมหากุศล เพื่ออุทิศแด่พระมหากษัตริย์พร้อมทั้งทหารผู้กล้าหาญทั้งหลายที่เสียชีวิตไป ท่านเหล่านี้เป็นผู้สละชีพเพื่อชาติบ้านเมืองของเรา จึงควรได้รับการเทิดทูนหรือชมเชย พร้อมทั้งการอุทิศส่วนกุศลถึงท่านโดยทั่วกัน 

เป็นเรื่องที่หาได้ยาก ผู้ที่มีความกล้าหาญชาญชัย เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอันยิ่งใหญ่ คือ ชาติไทยของเรา ถ้าไม่มีผู้กล้าหาญชาญชัย มีแต่ผู้อ่อนแอ ท้อแท้ เหลวไหลแล้วแบบอ่อนเปียกๆ ชาติไทยของเราจะจมไปนานแล้ว นี่ที่เป็นชาติไทยมาโดยลำดับลำดา ก็เพราะมีท่านผู้จิตใจที่กว้างขวางและกล้าหาญชาญชัย สละชีพเพื่อชาติของตน แม้ชีวิตจะตายไปก็ขอให้ชาติมีความแน่นหนามั่นคง ด้วยความเสียสละของตน ก็เป็นที่พอพระทัย และเป็นที่พอใจ จึงเรียกว่า ผู้กล้าหาญชาญชัย ควรได้รับความเทิดทูน จากบรรดาพี่น้องชาวไทยเราทั้งชาติ และกรุณาถือเป็นตัวอย่างอันดีงามต่อไป 

ชาติไทยเป็นสมบัติของเราทุกๆ ท่าน ขอให้มีความกล้าหาญชาญชัย รักษาชาติและทะนุบำรุงรักษาชาติของตน ด้วยความเข้มแข็งแน่นหนามั่นคงทุกด้านทุกทาง การรักษาชาติเป็นสิทธิ์เป็นหน้าที่ของพี่น้องทั้งหลาย จะเป็นผู้รักษาด้วยกัน นี่ท่านที่ได้ล่วงไปแล้ว ท่านเป็นตัวอย่างอันดีงามอย่างยิ่งสำหรับชาติไทยของเรา

วันนี้จึงของพร้อมใจกันทุกๆ ท่าน ที่เราได้สละกุศลผลทานมาครั้งนี้ ขอให้ตั้งใจอุทิศส่วนกุศลถึงท่าน ผู้ที่เป็นวีรบุรุษทั่วหน้ากัน ถ้ามีคนประเภทที่อยู่แล้วชาติไทยของเรา จะมีความจีรังถาวรสืบต่อไป ขอให้ยึดไว้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ ในจิตใจของเราด้วย แล้วตั้งใจอุทิศส่วนกุศลถึงท่านด้วยความสัตย์ความจริง ความเทิดทูนท่านด้วย จะเป็นกุศลแก่จิตใจของเราเป็นอย่างมากทีเดียว

เรื่องความล้มความตายมีอยู่ทุกแห่งทุกหน ทุกหย่อมหญ้านั้นแหละ แต่ตายที่มีสาระสำคัญก็มี ที่ตายธรรมดาก็มี ท่านที่ล่วงลับไป ซึ่งได้กล่าวพระนามถึงเมื่อสักครู่นี้ นั่นเป็นผู้ที่หาได้ยาก ที่จะนำชาติไทยของเราต่อไป ต้องเป็นผู้เช่นนี้ เป็นผู้อ่อนแอท้อแท้ไม่ได้ทีเดียว เราต้องยึดคติตัวอย่างของท่านไว้ให้ดี อย่ามีความอ่อนแอท้อแท้ ต้องมีความกล้าหาญชาญชัย เพื่อสมบัติคือคนทั้งชาติ ได้แน่นหนามั่นคงสืบต่อไป แล้วการเป็นการตายมีอยู่ทั่วไป ดังที่กล่าวสักครู่นี้แหละ ไม่มีที่ไหนที่จะไม่ตาย ผู้ตายไปก็ตายไป ผู้มีชีวิตอยู่ขอให้ตั้งเนื้อตั้งตัวปฏิบัติหน้าที่การงานให้เป็นไปโดยอรรถโดยธรรม จะเป็นความราบรื่นดีงามแก่ตนและส่วนรวม ตลอดประเทศชาติของเรา

ถ้าต่างคนต่างได้ น้อมศีล น้อมธรรม น้อมศาสนาของพระพุทธเจ้าที่เป็นศาสดาองค์เอก ประกาศสอนไว้ เฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องชาวไทยเรา เป็นลูกชาวพุทธแทบทั้งนั้น จึงขอให้นำอรรถนำธรรมท่าน ไปปฏิบัติต่อตน ครอบครัว แล้วก็ส่วนรวม จนกระทั่งทั่วประเทศไทยของเรา น้อมนึก ถึงอรรถถึงธรรมของท่าน ท่านสอนว่าอย่างไร นี่เป็นสำคัญ เราอย่าปล่อยให้สิ่งที่เป็นภัยต่อพุทธศาสนา และต่อตัวของเรา คือกิเลสนั้นแลตัวเป็นภัยต่อธรรม และเป็นภัยแก่ตัวของเรา ซึ่งรวดเร็วมากที่สุด มันเกิดอยู่ที่หัวใจ ไม่ได้เกิดอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้นความเคลื่อนของใจ ออกไปด้วยการคิดปรุงในเรื่องต่างๆ จึงมักจะมีแต่เรื่องของกิเลสๆ ที่เป็นข้าศึกของตน แทบว่าโดยถ่ายเดียว เพราะไม่มีธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองรักษา เมื่อมีธรรมแล้ว สิ่งเหล่านี้จะไม่ผาดโผนโจนทะยาน ถึงขนาดเอาฟืนเอาไฟมาเผาเราทั้งวันทั้งคืน เพราะความประพฤติของเรามากนัก

ธรรม คือ อะไร สติธรรม ขอให้มีสติระลึกรู้ในความผิดความถูก ที่แสดงออกจากใจ กาย วาจาของเรา

ปัญญาธรรม คือ ความรอบคอบในหน้าที่การงาน ไม่ว่าส่วนย่อยส่วนใหญ่ ส่วนไหนที่เป็นประโยชน์ ส่วนไหนที่เป็นความเสียหาย ให้คัดเลือกด้วยดี ตลอดถึงการประพฤติตัว เราทำอย่างไร เป็นความผิดถูกชั่วดีประการใดบ้าง ให้พินิจพิจารณาด้วยปัญญา สำหรับความคิดของเรา คิดดี หรือคิดชั่วต่อตน หรือต่อผู้อื่นก็ตาม เป็นเรื่องผิดทั้งนั้นถ้าเป็นคิดชั่ว ถ้าเป็นคิดดีแล้วก็ให้สั่งสมเอาไว้ ความคิดชั่วเป็นภัยทั้งแก่ตนและผู้อื่น ให้ปัดออกเสียด้วยดีๆ ตลอดไป นี่เรียกว่า ผู้มีธรรมในใจ

หลักใหญ่พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า หลักกรรม กรรม คือ การกระทำดีชั่วของสัตว์โลก ซึ่งอยู่ใต้อำนาจของผลแห่งกรรม เรามีอำนาจทำกรรมได้ ทำชั่วก็ทำได้ ทำดีก็ทำได้ แต่เมื่อทำลงไปแล้ว ผลของกรรมมีอำนาจบังคับเรา ให้เป็นผลชั่ว ตามที่ทำลงไปแล้ว และให้เป็นผลดี ตามที่ทำลงไปแล้วเช่นเดียวกัน

ทั้งสองอย่างนี้ไม่มีใครมาตัดสินได้เลย อย่างที่โลกเขามีผู้พิพากษาศาลฎีกา ตัดสินคู่ความต่างๆ ซึ่งมนุษย์อยู่เป็นส่วนรวม ต้องมีผิด มีพลาด มีผู้ตัดสิน แต่เรื่องกรรมดีกรรมชั่วนี้  ต้องเป็นเรื่องของเราตัดสินเอง ตั้งแต่การกระทำเริ่มแรก ทำชั่ว ผิดหรือถูก เราเป็นผู้ตัดสินเอง เมื่อผิดแล้วตัดสินลงไปว่า อย่าทำ เมื่อถูกแล้วตัดสินลงไปว่า เอา ลงมือทำลงไป นี่เรียกว่า เราเป็นผู้ตัดสินเอง เป็นผู้พิพากษาเอง เมื่อเราพิพากษาด้วยสติปัญญาเรียบร้อยแล้ว เราก็ตัดสินลงไปด้วย การคิด การพูด การกระทำของเรา ไม่ค่อยผิดพลาดสำหรับผู้พิจารณาโดยอรรถโดยธรรม แล้วเป็นเครื่องตัดสินไปในตัว เป็นความราบรื่นดีงาม

จึงขอให้ท่านทั้งหลายได้นำธรรมะไปปฏิบัติ หลักธรรมะนี้ คือ หลักกรรมเป็นพื้นฐานของสัตว์โลก ไม่มีสัตว์โลกรายใด ที่จะเหนืออำนาจแห่งกรรมดีกรรมชั่วไปได้ ท่านจึงสอนให้ระวังการกระทำให้มากที่สุด นี้คือ ต้นเหตุแห่งฟืนแห่งไฟ คือบาป คือกรรม และต้นเหตุแห่งคุณงามความดี ซึ่งเป็นบุญเป็นกุศล

ให้พิจารณาดูจิตใจของเรา ซึ่งเป็นตัวเคลื่อนไหวไปทางดีทางชั่วอยู่ตลอดเวลา ได้แก่ ความคิดปรุงต่างๆ ความคิดนี้แหละ ท่านเรียกว่า ความปรุง ความคิดความปรุง คิดดี คิดชั่ว คิดขึ้นที่ใจ สติปัญญาคอยสอดส่องดูความคิดดีคิดชั่วของตน แล้ววินิจฉัยใคร่ครวญแยกแยะออก ในสิ่งที่ไม่ดี อย่าทำ ทำแต่สิ่งที่ดีงาม นี้เรียกว่า เราดำเนินถูกธรรม การดำเนินของเราก็เป็นกรรมที่ดีๆ

ท่านสอนว่า หลักใหญ่ที่ครอบสัตว์โลกอยู่ นี้คือว่า นตฺถิ กมฺมสมํ พลํ ไม่มีอานุภาพใดในสามแดนโลกธาตุนี้ จะเหนืออำนาจอานุภาพแห่งกรรม และผลของกรรมนี้ไปได้เลย ใครจะปฏิเสธ ลบล้างขนาดไหน ไม่มีทางที่จะลบล้างได้

พระพุทธเจ้าจึงยกขึ้นมาให้เป็นที่สะดุดใจของสัตว์ผู้นับถือพุทธศาสนา ว่าให้ระวังกรรมที่เป็นภัย เป็นภัยจากตัวเอง เป็นคุณจากตัวเองนี้แล อย่าไประวัง ดิน ฟ้า อากาศ ต้นไม้ ภูเขาอะไรมากยิ่งกว่าการระวังความผิด ที่จะเกิดขึ้นภายในตัวของเรา ให้ระวังตัวนี้ ถ้าทำตัวนี้ผิดแล้ว อะไรจะมาแยกแยะ มาตัดสินให้หลุดลอยไป จากบาปจากกรรมนั้นไม่ได้เลย

เราเป็นผู้ทำเอง และกรรมนั้นก็จะตัดสินลง ตามสิ่งที่เราทำไว้นั้น คือ บาป บาปนั้น คือ ความเศร้าหมองมืดตื้อ นำความทุกข์มาให้แก่ผู้ทำ บุญ คือ ความสุข ความสมหวังทั้งกายและทางใจ ทั้งชาตินี้และชาติหน้า ส่วนความชั่วก็มีความทุกข์ทั้งชาตินี้และชาติหน้าต่อไปตลอดการไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์

จึงขอให้พากันนำธรรมะนี้ไปวินิจฉัยใคร่ครวญ ปฏิบัติตามอรรถตามธรรม อย่าปล่อยให้แต่กิเลสมันลากมันถูไปทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน เหมือนหนึ่งว่า ซุงทั้งท่อน ไม่มีจิตวิญญาณทั้งๆ ที่เรามีความรู้อยู่ เป็นตุ๊กตาที่มีความรู้นั้นละ ให้กิเลสลากถูไป อยากได้อะไรเป็นความคิดของกิเลส อยากรู้ อยากเห็น อยากกระทำ อยากทดลองสิ่งต่างๆ มีตั้งแต่ความอยาก ซึ่งเป็นตัวกิเลสนี้แหละ เมื่อความอยากนี้ปรากฏขึ้นแล้ว จึงไม่มีเวล่ำเวลาที่จะมาคิดว่า ความอยากอย่างนี้ผิดถูกชั่วดีประการใด แล้วก็ไหลไปตามมัน ส่วนมากจึงมีตั้งแต่เรื่องต่ำทราม มีตั้งแต่เรื่องความผิด ทำด้วยความอยากทำ ไม่มีธรรมในใจ ส่วนมากเป็นความผิด พูดไม่มีธรรมในใจ ส่วนมากเป็นความผิด คิดไม่สติปัญญาพินิจพิจารณา คิดทั้งวันทั้งคืน ผิดทั้งเพตลอดมา

จึงต้องเอาธรรมะเข้าเป็นเครื่องวินิจฉัยใคร่ครวญ เป็นเบรกห้ามล้อในสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย แล้วเป็นคันเร่งในหน้าที่การงาน ที่ถูกต้องดีงาม เป็นผลเป็นประโยชน์ด้วยความเข้มแข็งหมั่นเพียร ส่วนเบรกนั้นห้ามในสิ่งที่ชั่ว ความชั่วนั้นเราทำแล้วจะไม่ไปอยู่ที่ไหน ท้องฟ้ามหาสมุทรกว้างแสนกว้าง ความทุกข์จะไม่ไปอยู่ในสถานที่เหล่านั้นเลย จะมาอยู่สถานที่ผู้สร้างผู้ทำขึ้นมา เช่น ตัวของเราเอง เราทำบาป กรรมที่เป็นบาปนั้นก็มาหาเรา ไม่ไปที่อื่น เราทำบุญๆ ก็มาหาเราไม่ไปที่อื่น ไม่มีสถานที่ใดที่เก็บบุญและบาปไว้นอกจากผู้ทำ ผู้ทำก็คือ ใจของเรานั้นแล เป็นผู้ริเริ่มขึ้นมา แล้วกระจายออกไปทางวาจาทางกาย ความประพฤติหน้าที่การงานผิดถูกชั่วดีประการต่างๆ ออกจากจิตใจของเรา

จึงขอให้พินิจพิจารณาด้วยดี ชาวพุทธอย่าปล่อยตัวจนเกินไป เสียคน เสียเรา เสียทั้งประเทศเราด้วย และไม่สมเชื่อสมนามว่า เราเป็นลูกชาวพุทธ ขอให้มีสติปัญญาพิจารณาใคร่ครวญความผิดถูกชั่วดีที่มีประจำตน ซึ่งออกจากใจที่พร้อมเสมอ ที่จะคิดทาง ส่วนมากมักจะคิดทางชั่วมากกว่าทางดี นี่คิดเสมอ ปรุงเสมอ จากนั้นก็ฉุดลากทางวาจา ออกจากทางวาจา ทางกาย ทางความประพฤติเหลวแหลกแหวกแนว ไปจากจิตใจที่ต่ำทรามนี้แล ขอให้มีธรรมเข้าเป็นเบรกห้ามล้อในสิ่งเหล่านี้ จะสมเชื่อว่าเราเป็นลูกชาวพุทธ