กิริยาที่ขวางสมมุติ
วันที่ 16 ธันวาคม 2547 เวลา 18:10 น.
สถานที่ : กุฏิหลวงตา สวนแสงธรรม กรุงเทพฯ
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ กุฏิหลวงตา สวนแสงธรรม กรุงเทพฯ

เมื่อค่ำวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗

กิริยาที่ขวางสมมุติ

 

         วันนี้เรามีโอกาสเลยไปกราบพ่อแม่ครูจารย์ที่ถ้ำสาริกา แล้วไปดูเขื่อนท่าด่าน แต่ต้นก็ไปดู ตอนกำลังเขาสร้างก็ไปดู จวนจะเสร็จแล้วดูเหมือนไปหนหนึ่ง ตอนนั้นเขาเปิดทางให้ไปได้ทั่วๆ ไป เราก็ไม่ไปรบกวนเจ้าหน้าที่เขา วันนี้ไปก็ไปดูจะเสร็จแล้วนะ เขากำลังทำงานอยู่ข้างบน เก็บเครื่องของอะไรต่ออะไร เลยต้องได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่เขา สุดท้ายหัวหน้าเลยพาไปเสียเอง ไปดูหมดเลยข้างบน ถ้าไม่ใช่หัวหน้าไปไม่ได้ ต้องติดต่อละวันนี้ ไปดูเขื่อน โอ๊ย ใหญ่ สูงตั้ง ๙๓ เมตร (กว้าง ๖ เมตรครับ) ยาว ๒ กิโล ๗๐๐ เมตร เสร็จแล้วเขากำลังเก็บสิ่งเก็บของ ยังเหลือเล็กน้อย หัวหน้าเขาละพาไปเอง ไปดูให้หมดเลย เขายังนิมนต์เราไปอีก เราก็อยากมาอยู่แล้ว พอดีนิมนต์ พอได้โอกาสเราก็จะไป เราว่างั้น เขื่อนนี่ก็ใหญ่อยู่นะ หัวหน้าเขาพาไปดูสุดขีดเลยจนไม่มีที่ไป ถ้าไม่ได้ติดต่อกับหัวหน้าก็ขึ้นไม่ได้ ไปไม่ได้ นี่หัวหน้าเขาพาไปเองจึงได้ไปทะลุไปหมดเลย

         ความจำไม่เป็นท่า ไปไหนผ่านไปๆ หายเงียบไปเลยๆ ไปเจอของเก่าก็เหมือนเป็นใหม่ขึ้นมา มันจำไม่ได้ว่านั้นมีนั้นเคยเห็นแล้วไม่มี หายเงียบเลย ไปดูเหมือนเป็นใหม่ขึ้นมาเรื่อย ความจำเสื่อม สังขารไม่เสื่อม คือความคิดความปรุง ความคิดเรียกว่าสังขาร ความคิดความปรุงในเรื่องต่างๆ สังขารดูว่าไม่ชำรุด ใช้ได้ตลอดมา แต่สัญญาความจำเสื่อมมากทีเดียวเวลานี้ พูดอะไรไปหายเงียบๆ ไม่มีเหลือ พอเวลาเขาพูดเข้าใจปั๊บพอเสร็จแล้วผ่าน หายเงียบเลย นี่คือความจำเสื่อมมาก ทางตาก็เสื่อม ตาฝ้าตาฟาง หูก็เริ่มหนวกเข้าแล้ว จมูกก็เหมือนกันเหมือนเป็นหวัด ลิ้นรสชาติก็ไม่เหมือนเก่า กายก็ชำรุด นี่เรียกว่าเครื่องมือของใจมันเสื่อมไปๆ แต่ดูว่าสังขารไม่เสื่อมนะ

         ในขันธ์ที่ใช้มาอยู่เวลานี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูปกายเหล่านี้เป็นขันธ์ แปลว่ากอง มีสังขารคิด คือสังขารแต่ก่อนเป็นเรื่องของกิเลส เป็นเครื่องมือของกิเลสนำไปใช้ ออกแง่ไหนมุมใดมีแต่เรื่องกิเลสพาคิดพาปรุงเรื่องราวต่างๆ เป็นทางเดินของกิเลสทั้งนั้น สังขารเป็นเครื่องมือคิดปรุง สัญญาเหล่านี้ก็ไปตามกิเลสทั้งหมด ตามองเห็นอะไรก็เป็นกิเลสๆ ไปหมด เพราะกิเลสเป็นเจ้าของ ขันธ์นี้เป็นเครื่องมือ ตาดูเพื่อกิเลส หูฟังเพื่อกิเลส ผูกมัดตัวเอง สั่งสมความไม่ดีใส่ตัวเองถ้าไม่มีธรรม เรื่องความเป็นธรรมในตา หู จมูก ที่ได้สัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ จะไม่มี จะมีแต่กิเลสล้วนๆ

         ทีนี้เมื่อมีธรรมเข้าไป ธรรมเข้าแทรก แทรกเข้าไป ธรรมก็เอามาเป็นเครื่องมือของตน กิเลสก็เอามาเป็นเครื่องมือของกิเลส ทีนี้เวลาธรรมมีหนาแน่นเข้าๆ เรื่องของกิเลสที่เป็นเจ้าของของขันธ์ก็ลดน้อยลง ใช้น้อยลงๆ ตาเห็น แต่ก่อนเป็นกิเลส ตาเห็นพับมันแปรเป็นธรรมไปแล้ว มันเป็นธรรมของมันเอง หูฟังอะไรก็เป็นธรรมแทรกเข้าไป จมูก ลิ้น กาย จิตคิดปรุงออกมาเป็นสังขารก็เป็นเรื่องของธรรมไปเรื่อยๆ นี่เรียกว่าเครื่องมือ ขันธ์ห้านี่เป็นเครื่องมือของจิต จิตก็เป็นจิตมีกิเลส ก็กิเลสนั่นละเอาขันธ์นี้เป็นเครื่องมือใช้ตลอดเวลา

         ทีนี้เมื่อมีธรรมเข้าไป ธรรมค่อยแทรกเอาขันธ์นี้ไปใช้ในทางด้านธรรมะๆ เมื่อธรรมะมีมากแล้ว ธรรมะเอาไปใช้มากกว่ากิเลสโดยลำดับลำดา ขันธ์ห้านี่กลายเป็นเครื่องมือของธรรมมากขึ้นๆ มีแต่ธรรมะใช้ เวลาธรรมมีอำนาจแล้วออกแง่ไหนมุมใดมีแต่ธรรมนำมาใช้ทั้งหมด กิเลสอ่อนตัวๆ ลง นี่หดเข้ามา ตา หู จมูก ลิ้น กาย อะไรๆ นี้ค่อยหดเข้ามา จะมารวมอยู่ที่ใจ คิดปรุงขึ้นมาเรื่องใดนี้เป็นธรรมขึ้นมาๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย อยากเห็นนั้นอยากพบนี้ไม่อยาก แต่ความคิดปรุงมันก็คิดของมัน เมื่อมีธรรมอยู่ในนั้นแล้วมันก็คิดเป็นส่วนธรรมไปเสีย คิดไปๆ

สรุปลงไปเลยว่า จนกระทั่งกิเลสขาดไปหมดภายในจิตใจ ตา หู จมูก ลิ้น กายเรานี้ กลายมาเป็นเครื่องมือของธรรมทั้งหมด เพราะกิเลสตายแล้ว เจ้าของของขันธ์อันนี้แต่ก่อนมาดั้งเดิม คือกิเลสเป็นเจ้าของ เกิดมานี้ก็เพราะกิเลสพาให้เกิด ทีนี้กิเลสก็นำไปใช้ พอเราบำเพ็ญธรรมเข้าๆ ธรรมก็ค่อยแทรกขึ้นมา ใช้เครื่องมืออันเดียวกันเป็นธรรมๆ  กิเลสก็ลดน้อยลง ธรรมหนาขึ้นๆ ทีนี้จิตทั้งหมดนี้เลยกลายเป็นธรรมมากเข้าๆ เหล่านี้ที่เป็นเครื่องมือก็เลยกลายเป็นเครื่องมือของธรรมไป จนกระทั่งกิเลสหมดไปโดยสิ้นเชิงภายในใจ ไม่มีอะไรเหลือเลย ทีนี้ขันธ์ก็เลยกลายเป็นเครื่องมือของธรรมล้วนๆ แต่ก่อนเป็นเครื่องมือของกิเลส กิเลสเบาลงๆ ก็เป็นเครื่องมือของธรรมหนักเข้าๆ สุดท้ายกิเลสหมดไป เรียกว่าเจ้าของตายไป ยังเหลือแต่ขันธ์ ก็กลายมาเป็นเครื่องมือของธรรม เป็นเครื่องมือของกิเลส กิเลสมันยึดมันถือว่าเป็นเราเป็นของเราเสียทั้งหมด

         ทีนี้พอมาเป็นของธรรมล้วนๆ แล้วอาการทั้งนี้เป็นเครื่องมือทั้งหมด ไม่ได้ถือว่าเป็นเราเป็นของเรา ท่านไม่ยึด เป็นเครื่องมือล้วนๆ กิเลสไม่ได้นำมาใช้เลยละ เพราะกิเลสตายไปแล้ว ก็มีแต่ธรรมออกใช้ เช่นการเทศนาว่าการ เคลื่อนไหวไปมาเป็นอรรถเป็นธรรมทั้งนั้นไม่เป็นกิเลส เวลาสรุปลงมาเครื่องมืออันนี้มันชำรุดอะไรลงบ้าง เครื่องมือของธรรม แต่ก่อนเป็นเครื่องมือของกิเลสมันก็ชำรุดไปตามสภาพของมัน ในเรื่องของขันธ์ที่เป็นกฎ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา

         พอธรรมเราหนาแน่นขึ้นมาแล้ว เหล่านี้มันก็ค่อยเสื่อมเครื่องมือของธรรม ตา หู จมูก ลิ้น กาย จะค่อยหดเข้ามาๆ ตาฝ้าตาฟาง หูหนวกไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง ตา หู จมูก ลิ้น แล้วหดเข้ามาๆ ใช้ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ที่ปรากฏเด่นชัดอยู่ก็คือสังขารขันธ์ สัญญาก็เสื่อมลงๆ ให้เห็นชัดเจน รูปคือร่างกาย เวทนาคือความสุข ความทุกข์ เฉยๆ ที่อยู่ในร่างกาย สัญญาคือความจำได้หมายรู้ จำชื่อจำเสียง จำที่นั่นที่นี่ เรียกว่าสัญญา สังขารคือความคิดปรุงในแง่ต่างๆ ท่านเรียกว่าสังขาร วิญญาณคือความรับทราบ เวลาตากระทบรูป หูกระทบเสียง จะรู้แย็บๆ ในขณะที่กระทบ พอผ่านไปก็ดับ เรียกว่าวิญญาณ

         เหล่านี้มีความลดลงๆ แต่ที่ปรากฏไม่ค่อยลดก็คือสังขารขันธ์ แต่ไม่ได้ปรุงไปเพื่อกิเลส คิดปรุงได้ธรรมดา พระพุทธเจ้า-พระอรหันต์ท่านคิดปรุงได้ธรรมดา แต่ไม่ได้เป็นกิเลส เพราะเป็นธรรมล้วนๆ เป็นแต่เพียงเครื่องมือใช้คิดใช้อะไรไปเท่านั้นเอง อันนี้ยัง ความคิดนี้ยัง ส่วนสัญญาความจำเสื่อมให้เห็นชัด นอกจากนั้นเสื่อมให้เห็นชัดเจน ส่วนสังขารนี้ยังมีอยู่ ไม่เห็นเสื่อมไปไหน มันคิดอยู่ของมันอย่างนั้น แต่ไม่ได้เป็นภัย คือมันหากดีดหากดิ้นของมัน คิดปรุงของมันธรรมดาๆ เรียกว่าคิดไปปรุงไป ผ่านไปๆ ไม่เกาะไม่ยึดเหมือนกิเลสเป็นเจ้าของ อันนี้มีอยู่ธรรมดา เอามาพิจารณาทบทวนหมดเลย

         สังขารขันธ์ความคิดไม่เห็นเสื่อมไปไหน เห็นมันคิดอยู่ธรรมดา เป็นแต่เพียงว่าคิดแล้วไม่เกาะไม่ยึด เดินผ่านไม่หยิบนั้นหยิบนี้ คิดไปผ่านไปๆ ธรรมดา พอคิดทางด้านธรรมก็เป็นธรรมไป ไม่ยึดทั้งสอง คิดไปถึงเรื่องของโลกของสงสาร เห็นไปรู้ไปก็ไม่เป็นกิเลส เพราะจิตไม่มีกิเลส ตา หู จมูก ลิ้น กาย เหล่านี้จะสัมผัสสัมพันธ์อะไรก็สักแต่ว่าสัมผัสสัมพันธ์กันไปไม่เกิดกิเลส เพราะกิเลสไม่มีอยู่ภายใน ใช้ท่านก็ใช้ของท่านไปอย่างนั้น จนกระทั่งอายุขัย ใช้ขันธ์นี้ไปเรื่อยๆ สังขารขันธ์นี้ก็ใช้ไป

         สำหรับสังขารขันธ์นี้ชัดเจนมาตลอด ไม่ปรากฏว่าชราคร่ำคร่า หรือเสื่อมไปไหนเหมือนสัญญา เป็นต้น สัญญาความจำนี้หดเข้ามาๆ จนกระทั่งจะไม่มีความจำ นี่เป็นเครื่องมือใช้ พระอรหันต์ท่านจึงให้ชื่อขันธ์นี้ว่าเป็นขันธ์ล้วนๆ ไม่มีกิเลสเข้าเจือปน  กลายมาเป็นเครื่องมือของธรรมใช้ตลอดวันนิพพาน แต่เป็นเครื่องมือเฉยๆ ธรรมท่านไม่ยึดเหมือนกิเลส กิเลสมียึด อะไรๆ อยู่ในนี้เป็นของตัวหมด รูปกายก็ว่าเป็นของตัว เวทนา สุข ทุกข์ เฉยๆ ก็ว่าเป็นของตัว สัญญาความจำได้หมายรู้ก็ว่าเป็นของตัว สังขารความคิดความปรุงก็ว่าเป็นตัวเป็นของตัว วิญญาณความรับทราบต่างๆ ก็ว่าเป็นเราเป็นของเราไปหมด นี่เรื่องของขันธ์ที่มีกิเลสครอง

         เมื่อกิเลสสิ้นลงไปแล้วเหล่านี้เป็นแต่เพียงใช้เฉยๆ ท่านจึงเรียกว่าขันธ์ล้วนๆ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ล้วนๆ ไม่ได้เป็นกิเลสในกิริยาที่แสดงออก เพราะจิตบริสุทธิ์แล้ว ใช้ขันธ์แล้วก็ไม่ยึดขันธ์นี้ด้วย ทราบชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่า นี้เป็นเครื่องมือสำหรับใช้เท่านั้น ใช้ไปถึงวันเวลาก็ปล่อยเสีย เพราะท่านไม่ยึดไม่ถือ การปฏิบัติธรรมเรื่องจิตตภาวนาเป็นสำคัญมากในแดนพุทธศาสนา ไม่มีอะไรเกินด้านจิตตภาวนาที่ใช้ประมวลทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามารู้ชัดประจักษ์กับใจ ไม่สงสัย ไม่ถามใคร

         เรื่องจิตตภาวนาสำคัญมากอย่างนั้น ส่วนอื่นก็ไม่ค่อยแน่นัก แต่ส่วนจิตตภาวนานี่แน่ที่สุด ผลสุดท้ายกองการกุศลผลประโยชน์ที่เราสร้างไว้มากน้อย มันก็มารวมอยู่ที่จิต เพราะจิตนี้เป็นทำนบแล้ว เป็นทำนบใหญ่สำหรับเก็บบุญเก็บกุศลทั้งหลายแล้ว สร้างมามากน้อยจะรวมเข้ามาหาจิตๆ พอเต็มที่แล้วก็หนุนจิตให้พ้นไปเลย พอจิตพ้นแล้วจากบุญจากบาปทั้งหลาย ท่านจึงไม่หมายบุญหมายบาป กิริยาที่อยู่กับโลกนี้ท่านใช้ไปเหมือนโลกนิยมกัน ยอมรับกัน ท่านปฏิบัติตามที่โลกยอมรับ แต่จะให้ท่านเป็นบาปเป็นกรรมอย่างฆราวาสก็ตาม พระก็ตามเมื่อจิตหลุดพ้นโดยสิ้นเชิงแล้ว จะไม่มีติดในจิตท่านเลย จะมีแต่กิริยาที่ใช้อยู่เพียงเท่านั้น ไม่มีบุญมีบาปเข้าไปติดใจ ก็มีแต่กิริยาของขันธ์ซึ่งเป็นสมมุติ

         ทีนี้ขันธ์เมื่อเป็นสมมุติ ปฏิบัติต่อสมมุติทั้งหลายก็ต้องให้เสมอกันเหมือนโลกทั่วๆ ไป ท่านเป็นพระท่านก็ปฏิบัติแบบพระไปเรื่อยๆ เป็นใครก็ปฏิบัติตามนั้นให้เหมาะสมกับความเป็นพระ เพราะร่างกายนี้เป็นสมมุติ เพศของพระก็เป็นสมมุติ กิริยาความเคลื่อนไหวของพระ  ก็ให้สวยงามตามหลักธรรมวินัยที่ท่านขีดเส้นบรรทัดไว้เรียบร้อยแล้ว ปฏิบัติไปตามนั้น ที่จะให้ท่านเป็นบาปเป็นบุญ ต้องอาบัติอย่างนั้นอย่างนี้ท่านไม่มี คือผ่านไปหมดแล้ว

         ให้ชื่อว่าปุญญปาปปหินบุคคล เป็นผู้มีบุญและบาป อันละได้โดยสิ้นเชิงแล้วทางด้านจิตใจ เป็นแต่เพียงมีขันธ์อยู่ก็ต้องปฏิบัติต่อขันธ์ให้เหมาะสมกับสังคมยอมรับกัน ความเป็นพระยอมรับกันก็คือการปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัย นี่เป็นขั้นสมมุติในขั้นนี้ ก็ปฏิบัติอย่างนั้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันนิพพาน ถ้าเป็นหลักธรรมชาติของจิตแล้ว พอกิเลสขาดสะบั้นลงไปแล้วหมดปัญหาที่จะให้เป็นบาปเป็นบุญ ต้องอาบัติสังฆาปาราชิกอย่างนี้ไม่มี หมด กิริยาที่ท่านรักษาก็รักษาไว้ตามสมมุติที่มีอยู่ และปฏิบัติให้เหมาะสมกันกับด้านสมมุติทั้งหลายเท่านั้น จนกระทั่งวันนิพพาน

         นอกจากท่านจะทำแผลงๆ ออกมาบ้าง พอเป็นข้อคิดอย่างนี้ก็มีบ้าง แต่ท่านก็ไม่มีอะไร ท่านแสดงกิริยาออกมานิดๆ ยกตัวอย่างเช่นหลวงปู่แหวนของเรา ธรรมดาท่านก็ไม่เคยไปจับไปต้องเงินทอง เขาถวายมาเท่าไรมีคนจับคนจ่ายเก็บไว้เรียบร้อยเหมือนพระทั้งหลายไม่จับเงินจับทอง มาถวายท่านก็เหมือนกัน บทเวลาท่านจะทำ นี่ท่านพลิกออกมาเฉยๆ จะว่าท่านทำผิดในจิตใจไม่มี อยู่ๆ ท่านก็ไปเอาธนบัตรใบละ ๕๐๐ มามวนบุหรี่ จุดไฟขึ้นสูบปุ๊บๆ เลย

         “โห หลวงพ่อสูบอันนี้มันธนบัตรนะ นี่เงินนะใบละ ๕๐๐ นะ” ท่านก็ “เหอ”  ท่านก็รู้อยู่แล้ว “นี่ธนบัตรนะที่มวนบุหรี่สูบอยู่นี่น่ะ” “เหอ ท่านก็ทำท่าดู ประสากระดาษ” ท่านก็ว่า หายเงียบไปเลย นี้จะไปว่าท่านผิดไม่ได้นะ คือท่านพลิกกิริยาจากสมมุติที่ยอมรับกัน มาเป็นกิริยาที่ขวางสมมุติ คือยอมรับ ความเป็นพระไม่ยอมรับกัน แต่ท่านก็เอามาใช้ชั่วขณะ จะว่าท่านเป็นบาปว่าไม่ได้นะ ท่านพลิกกิริยานั้นออกมาพอให้จับได้เท่านั้นละ ทำได้แต่ไม่เป็นอาบัติ ไม่เป็นโทษ เพราะจิตบริสุทธิ์ล้วนๆ แล้ว กิริยาของขันธ์พลิกมาเพียงเท่านี้แล้วก็กลับไปตามเดิม

         จากนั้นท่านก็ไม่ทำอีก ท่านไม่ได้เอาธนบัตรมามวนบุหรี่สูบเรื่อยๆ นะ ท่านก็ทำเท่านั้นแหละ จากนั้นท่านก็ปฏิบัติเหมือนที่เคยปฏิบัติมา เราจะว่าท่านเป็นอาบัติไม่ได้นะ ยุติหมดโดยสิ้นเชิง อันนี้เป็นสมมุติทั้งมวล ท่านก็ปฏิบัติตามสมมุติมานาน บทเวลาท่านจะพลิกท่านก็พลิกปั๊บอย่างนั้น เอาธนบัตรใบละ ๕๐๐ มามวนบุหรี่ตัวใหญ่ๆ สูบ ปุ๊บๆ สบายเลย ทีนี้เมื่อมีพระลูกพระหลานมาว่าท่าน “นี่หลวงปู่เอาธนบัตรมามวนบุหรี่สูบนะ” ท่านก็ว่า “เหอ” ท่านก็ทำท่าดู ท่านรู้แล้วท่านทำท่าดู “ประสากระดาษ” ท่านว่า ท่านก็สูบสบายไปเลย แน่ะก็อย่างนั้น จะไปว่าท่านผิดไม่ได้นะ

         นี่แหละท่านพลิก กิริยาที่พระทั้งหลายยอมรับเป็นความผิด ก็ผิดแต่กิริยานี้เท่านั้น ใจท่านหมดโดยสิ้นเชิง จากนั้นท่านก็ปฏิบัติตามเดิม ก็ไม่เห็นมีอะไร เพราะใจท่านหมดโดยสิ้นเชิง ธรรมชาตินั้นเรียกว่าหมด กิริยาของขันธ์ที่แสดงออกทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่เข้ากระเทือนถึงจิตใจที่บริสุทธิ์สุดส่วนแล้วได้เลย แต่ท่านก็ปฏิบัติตามสมมุติที่มีอยู่ ธาตุขันธ์ของท่านที่มีอยู่ กิริยาอาการความเคลื่อนไหวไปมาที่ไหน การอยู่การกิน การขบการฉัน ท่านก็ปฏิบัติตามเพศของท่านซึ่งเป็นพระ ท่านไม่ฝ่าฝืน บทเวลาท่านจะพลิกก็พลิกอย่างนั้น พอให้เข้าใจกันบ้างเท่านั้นเอง ท่านไม่ได้ทำตลอดไป ไม่ใช่ว่าจะมีไปอย่างเดียวทีเดียว มีแยกมีแยะอย่างนั้น

         จิตนี่เมื่อหลุดพ้นแล้วมันพ้นจากสมมุติโดยประการทั้งปวง ไม่มีคำว่าผิดว่าถูกเข้าไปเกี่ยวข้องได้เลย คือเลยหมดแล้ว ความผิดความถูกอยู่ในแดนสมมุติ คำว่าบุญว่าบาปอยู่ในแดนสมมุติ ทีนี้เวลาพ้นไปแล้วท่านจึงว่าท่านผู้มีบุญและบาปอันละเสียได้แล้ว พ้นไปหมด บุญไม่มาเกี่ยวข้อง บาปไม่มาเกี่ยวข้อง ผ่านไปหมดแล้ว อย่างนั้นจึงเรียกว่าผู้มีบุญและบาปอันละแล้ว เป็นวิมุตติแล้ว บุญบาปนี่เป็นสมมุติ เวลาดำเนินอยู่ก็ต้องอาศัยบุญ อาศัยความดีงามหนุนขึ้นๆ เหมือนขึ้นบันได พอถึงบ้านแล้วบันไดกับบ้านแม้จะติดกันอยู่มันก็เป็นบันได มันก็เป็นบ้าน คนละสัดละส่วนอยู่โดยดี

         กิริยาแห่งบุญแห่งกรรมทั้งหลายก็เป็นเพียงสักแต่ว่ากิริยา แต่จิตใจนั้นพอทุกอย่างแล้ว ท่านไม่เอาอะไร จิตลงถึงขั้นเป็นอรหันต์แล้วพอทุกอย่าง ไม่เอาอะไรเลย สามแดนโลกธาตุเป็นสมมุติทั้งหมด จิตปล่อยวางโดยสิ้นเชิง อาศัยไปเพียงเท่านั้นเอง ที่จะให้ยึดให้เกาะว่าอันนั้นบกพร่องอันนี้ขาดเขินไม่มีในจิตดวงนั้น จึงเรียกว่าพออย่างเลิศเลอ พอก็พอนอกสมมุติไปเสีย ไม่ใช่พอธรรมดา เหมือนเรารับประทานอาหารตอนเช้านี้พอ พอตกบ่ายมาหิวอีกแล้ว ส่วนจิตอันนี้พอแล้วพอตลอด ท่านจึงเรียกว่านิพพานเที่ยง พอตลอดไปเลย

         เวลาปฏิบัติเข้าไป สิ่งที่ไม่เคยรู้เคยเห็นจะเป็นขึ้นในจิตในใจของภาคปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ที่ท่านแสดงไว้ปัญญาเกิดได้สามประเภท สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการได้ยินได้ฟัง จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการคิดอ่านไตร่ตรอง ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนาล้วนๆ อันนี้เรียบนะ นี่ละปัญญาขั้นนี้เป็นปัญญาที่แตกฉานพิสดารไม่มีอะไรเหมือน สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ไม่ได้เหมือน เพียงเป็นพื้นๆ หรือเป็นคนละอย่างๆ เท่านั้น

         พอถึงขั้นภาวนามยปัญญาแล้วเป็นปัญญาที่เกิดขึ้นจากการภาวนา มันหากรู้หากเห็น หากเป็นไปทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นจากการภาวนาล้วนๆ ไม่ต้องไปหาศึกษาเล่าเรียนจากที่ไหน หากเป็นขึ้นมาๆ รู้ขึ้นมา กระจ่างขึ้นมา หายสงสัยไปโดยลำดับลำดา โดยไม่ต้องไปถามใคร นี่ละภาวนามยปัญญา จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้นก็เกิดขึ้นจากภาวนามยปัญญา พูดถึงขั้นภาวนามยปัญญาโดยสมบูรณ์แล้ว จึงไม่มีคำว่าอัดว่าอั้น ความเฉลียวฉลาดรอบตัวเป็นอยู่โดยสมบูรณ์ ตามขั้นตามภูมิของท่าน จะกว้างแคบขนาดไหนหากเป็นความรู้อยู่ในนั้น ความบริสุทธิ์นี้เสมอกันแหละ

         ปัญญาที่จะกว้างขวางลึกซึ้งนั้นมีต่างกันอยู่บ้าง จึงเรียกว่าภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนา เกิดอย่างนี้ ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนาเกิดอย่างนี้เอง ไม่ไปหาเรียนคัมภีร์ที่ไหน พระไตรปิฎกก็ไม่เรียน ถ้าลงได้เข้าถึงนี้แล้วตีออกหมดเลย กระจายออกไปหมด จึงเรียกว่าภาวนามยปัญญาเป็นสำคัญมากในปัญญาทั้งสามประเภท พระพุทธเจ้า-พระอรหันต์ท่านเป็นภาวนามยปัญญา รู้ขึ้นเอง เห็นเองทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ต้องไปศึกษาเล่าเรียนจากใคร หากรู้หากเห็นหากเป็นขึ้นภายในใจ เป็นความตายใจแน่ใจไปในนั้นโดยลำดับลำดา

         เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าพอตรัสรู้แล้วสอนโลกได้สามแดนโลกธาตุ ท่านมีอัดมีอั้นที่ไหน สติปัญญานำมาสอนโลก เทศน์ได้หมด สอนได้หมด มนุษย์มนาตามขั้นตามภูมิของมนุษย์ท่านก็สอนได้ เทวดา อินทร์ พรหมทั้งหลายท่านก็สอนได้หมดเลย นี่ละถึงวิมุตติหลุดพ้น ธรรมชาตินี้เกิดขึ้นจากจิตตภาวนา เมื่อถึงขั้นสุดทุกอย่างแล้วคำว่าภาวนามยปัญญานี้ท่านก็ไม่ไปคำนึง ไม่คิดเสีย ภาวนามยปัญญาพูดถึงเรื่องการดำเนิน ปัญญาเกิดขึ้นเรื่อยๆ พอถึงขั้นบริสุทธิ์แล้วคำว่าภาวนามยปัญญานี้มันก็ลดไปเอง หากรู้ในตัวเอง มันพออยู่ในตัว ถ้าว่าปัญญาก็พออยู่ในนั้น ไม่ต้องภาวนาที่ไหนให้ได้เกิดปัญญาอีก มันเป็นอยู่แล้ว รู้แจ้งชัดอยู่ภายในนั้น นี่ละภาวนามยปัญญาเป็นทางดำเนินเพื่อความพ้นทุกข์โดยถ่ายเดียว มารวมอยู่ที่ภาวนามยปัญญาทั้งหมดเลย ท่านจึงสอนให้ลงในภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาก็คือภาวนามยปัญญา

         ผู้ปฏิบัติตามทางของศาสดาแล้วก็เป็นธรรมสดๆ ร้อนๆ อยู่ตลอดเวลา รู้ขึ้นมา เห็นขึ้นมา ประจักษ์ขึ้นมาเป็นลำดับลำดาจากการบำเพ็ญของตน ไม่มีที่สิ้นสุด รู้ขึ้นมาเรื่อยๆ สดๆ ร้อนๆ ไม่ได้มีคำว่าครึว่าล้าสมัยดังที่กิเลสมันหลอกลวง ว่าจะวิ่งตามกิเลสทันสมัย ล้ำยุคล้ำสมัยตลอดไป แต่เวลาจะหันหน้าเข้ามาสู่ธรรมเป็นสิ่งที่ครึที่ล้าสมัยไปเสียหมด นี่เห็นไหมกิเลสมันปิดบังหุ้มห่อจิตใจ เปิดทางให้ไปทางของมัน ล้ำยุคล้ำสมัย ทันสมัยตลอดเวลา