สิ้นสุดความว่างของจิต
วันที่ 25 มีนาคม 2551 เวลา 8:10 น.
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(MP3)

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๑

สิ้นสุดความว่างของจิต

อยู่ในครัวมาภาวนาให้ตั้งใจภาวนานะ สำหรับพระนี้ท่านพยายามเต็มที่อยู่แล้ว ส่วนภายในครัวมันไม่ค่อยได้เรื่อง การภาวนานี้เป็นเรื่องลึกซึ้งมากทีเดียว จิตใจจะเห็นดีเห็นเด่นเห็นเลิศเลอด้วยการภาวนา ถ้าอยู่ธรรมดาก็เป็นใจธรรมดาเรา เมื่อได้รับการฝึกฝนอบรมมีจิตตภาวนาเป็นต้น อันนี้เราจะเห็นความแปลกประหลาดอัศจรรย์ของใจเราเอง ซึ่งยังไม่เคยมีมาตั้งแต่เกิดว่าอย่างนั้นเถอะ เวลาจะปรากฏขึ้นก็ปรากฏขึ้นด้วยการภาวนา

เราไปเป็นอยู่วัดดอยธรรมเจดีย์นี้รู้สึกว่ามีเรื่องแปลกๆ อยู่ถึงสองสามเรื่องในใจของเราเอง.อันนี้ก็ไปอัศจรรย์ใจเจ้าของ เวลาเช้ามืดเดินจงกรมอยู่ทาง.. คือเขามันมีทางราบๆ ไกลยาว เป็นทางจงกรมได้ดี พอตี ๔ เราลงไปเดินจงกรมอยู่ที่นั่น ทีนี้ก็ไปเห็นความแปลกประหลาดอัศจรรย์ของตัวเองถึงกับได้อุทานออกมา คือจิตเวลานั้นมันเข้าขั้นว่าง คือการฝึกจิตนี้มันเป็นขั้นเป็นตอนของจิต

เช่นอย่างเราภาวนาในเวลากำลังเริ่มแรกนี้จิตมันดีดมันดิ้น ลิงร้อยตัวสู้ไม่ได้ ต้องเอาการภาวนาจะมีคำบริกรรมกำกับ เราอยากจะพูดว่าทุกรายไป ให้จิตได้เกาะอยู่ตรงนั้น เช่นพุทโธๆ เป็นต้น ให้สติกับจิตติดอยู่ตรงนั้น เอาคำบริกรรมให้ติดอยู่กับใจ แล้วสติบังคับอยู่นั้น มันจะสงบลงๆ ไป สงบจนเห็นได้ชัดเจน มันได้อาศัยเกาะเป็นพักๆ นะจิต ไม่ได้เป็นพักเดียว มันหากเป็นเรื่องของจิตโดยหลักธรรมชาติของตัวเองมันก็เป็น กำหนดเช่นอย่างคำบริกรรมพุทโธๆ จากนั้นจิตก็มีความสงบผ่องใส

แล้วพิจารณาทางด้านปัญญา แยกธาตุแยกขันธ์ แยกเขาแยกเรา แยกสัตว์แยกบุคคล ออกเป็นความสวยงามไม่สวยงาม อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เอาร่างกายเป็นพื้นฐาน พิจารณาร่างกายเป็นพื้นฐาน ทีนี้เวลาพิจารณามีความชำนิชำนาญเข้าไปๆๆ ผ่านร่างกายไป นั่นมันเป็นเองนะ เรื่องสุภะอสุภะความสวยงามไม่สวยงามนี้ผ่านออกไปแล้ว ผ่านทางร่างกายออกไป จิตใจก็ว่าง เมื่อจิตใจว่างแล้วเรื่องอสุภะอสุภังเหล่านี้ไม่มี ผ่านๆ มีแต่ความแปรสภาพ อนิจฺจํ ความเกิดดับ ร่างกายนี้หมด นั่นมันเป็นขั้นๆ นะ ถ้าอยู่ในขั้นกายก็พิจารณากายให้มาก

อย่างที่ท่านบอกให้ไปเยี่ยมป่าช้า ป่าช้าในครั้งพุทธกาล ตามที่ท่านแสดงไว้ในตำรามันเป็นป่าช้าผีดิบ คือตายแล้วไปทิ้งเกลื่อนไว้ในป่าช้านั้น ไม่ได้มีเผามีฝังกันละ ท่านให้ไปเยี่ยมป่าช้า เวลาไปก็บอกวิธีไป ให้ไปทางเหนือลม ไปให้สังเกตดูอสุภะอสุภังตายเก่าตายใหม่เกลื่อนอยู่ที่ป่าช้านั้น ดูอันนั้นแล้วก็ดูเราเทียบเคียงกันๆ พอได้เราเป็นหลักแล้วป่าช้านอกก็ผ่านไป เอาป่าช้าใน อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อสุภะอสุภัง กองอยู่ในนี้หมด ทีนี้ก็ไม่จำเป็นต้องไปเยี่ยมป่าช้านอก มันเป็นขั้นๆ

เวลาพิจารณาร่างกายนี้เต็มสัดเต็มส่วนมันก็พอเหมือนกัน ร่างกายนี้หมดไป คำว่าอสุภะอสุภังไม่มี นี่จิตมันผ่านของมันไป ถึงขั้นว่างนั่นละ พอมันว่างแล้วพิจารณาอะไรมันก็ว่างหมด อสุภะอสุภังอะไรไม่มี ว่าง ทีนี้ว่างไปหมด ขั้นว่างนี่ละเป็นขั้นที่ดูดดื่ม จิตใจว่าง มองไปไหนว่างไปหมด สำหรับเราเองนี้มันนิสัยวาสนาหยาบ ไปอย่างเชื่องช้า ไม่ได้ไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นมันมักจะเห็นซอกแซก รู้ซอกแซก เพราะมันไปอย่างเชื่องช้า พิจารณาไปมันก็ค่อยเห็นไปแจ้งขาวดาวกระจ่างไปเรื่อยๆๆ

ถ้าผู้ที่เร็วไม่เป็นอย่างนั้น อย่างพวกขิปปาภิญญาท่านบรรลุธรรมได้เร็ว ไปอย่างรวดเร็ว เช่นอย่างเครื่องบินไปเร็ว รถยนต์ไปช้า เดินไปด้วยเท้าก็ยิ่งช้าลงไป นี่ละมันค่อยไปอย่างนั้น ทีนี้จิตไปอย่างเชื่องช้านี่มันไปอย่างละเอียดๆๆ ไปเรื่อย มันก็ซอกแซกซิกแซ็กเห็นไปทุกแง่ทุกมุม ทีนี้พอไปถึงขั้นว่างแล้วมันก็ว่างไปหมดเลย ต้นไม้ภูเขาแผ่นดินเราเหยียบอยู่มันก็ว่าง ตัวของเรามันก็ว่างไปตามๆ กัน เห็นแต่ความสว่างกระจ่างแจ้งอยู่ภายในจิตนี้มันว่างออกเรื่อยๆ

นี่ก็เกิดความอัศจรรย์ตัวเองเหมือนกันเมื่อถึงขั้นมันว่าง มันว่าง มันผ่องใส มันเบา มันอัศจรรย์อยู่ในนั้นหมด ว่างไปหมดเลยถึงขั้นมันว่าง มันเป็นเองในจิตนะไม่ต้องถามใคร หากรู้ในจิตเอง พอถึงขั้นว่างเราจะพิจารณารูปนามอะไรไม่ได้ มันว่างไปหมดๆ ว่างเข้ามาๆ เข้ามาว่างภายใน นี่เราพูดอย่างย่นย่อนะ เวลามันชมความว่างก็ว่างไป เดินไปเหมือนว่าเรามองนั้นมองนี้ไปเรื่อยๆ เข้าถึงขั้นมันว่างพิจารณาอะไรก็ไม่ได้ แย็บเหมือนฟ้าแลบดูอะไรเป็นอย่างนั้นละแพล็บๆ ดับ พิจารณา อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อสุภะอสุภัง ไม่ทัน มันเร็ว แว็บเท่านั้นหมด เข้าสู่ความว่างๆ เรื่อยเข้าไป

ว่างเข้ามาพอๆ แล้วก็ว่างเข้ามาๆ ว่างภายใน ทีแรกว่างภายนอกเสียก่อน ภายในนี้ยังไม่รู้ตัวว่าว่างหรือไม่ว่าง เหมือนเราเข้าไปอยู่ในกลางห้อง เราไปยืนอยู่ในกลางห้อง ห้องนี้ว่างๆๆ ทีนี้มีผู้มาบอกว่าเราอยู่ในที่ว่าง ตัวเราไปยืนขวางอยู่ในความว่างในห้อง ห้องนี้ว่างแต่มันไม่ว่างเพราะเราไปยืนขวางห้องอยู่ พอมารู้ตัวเองถอนตัวออกมาจากความว่างนั้น ทีนี้มันก็ว่างไปหมด นี่จิต อะไรๆ ก็ว่างแต่ตัวยังไม่ว่าง พอย้อนเข้ามาถึงจิตแล้วจิตก็ว่าง วาง วางหมด นั่นละสิ้นสุด มาอยู่ที่จิตว่าง ตัวจิตเองมองดูอะไรๆ มันก็ว่างหมด แต่ตัวเองยังไม่ว่าง

พอเข้ามาภายในมันก็มารอบตัวเอง ตัวเองก็ว่าง ทีนี้พอข้างในว่างข้างนอกว่างวางหมด นั่นละท่านเรียกว่าสิ้นสุด สิ้นสุดในความว่างของจิต วางจิต ว่างอะไรก็ว่างไป ค่อยปล่อยไปแต่ตัวจิตยังไม่ว่าง ตัวเองก็ยังไม่ปล่อย เวลารอบเข้ามาๆ ก็มาติดตัวเอง ว่างภายนอกแต่ยังไม่ว่างตัวเอง พิจารณาเข้ามาถึงขั้นจิตที่มันว่างแล้ว เรียกว่าว่างภายในจิต ทีนี้ก็วางหมด ว่าง ทั้งว่างทั้งวางหมดโดยสิ้นเชิง นั่นรอบ นั่นละมันมาว่างที่จิต วางที่จิต ว่างภายนอกยังไม่วางภายใน ยังไม่ว่างภายใน ยังไม่วางภายใน

พอว่างภายนอกว่างเข้ามาๆ มาว่างภายในแล้วปล่อยวางภายใน ทีนี้ปล่อยหมด มาติดอยู่ที่จิตแห่งเดียว พอจิตว่างในตัวเองชัดแล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ว่างไปหมด วางไปหมด ปล่อยไปหมด นั่นละท่านเรียกว่าจิตปล่อย จิตวาง จิตว่าง ว่างทั้งภายนอกภายในตลอดทั่วถึง ทีนี้ก็สิ้นสุดตรงนั้น ไม่มีที่พิจารณา คือมันรอบตัวทั้งภายนอกภายในว่างด้วยกันหมด ธรรมชาตินั้นก็เป็นจิตที่บริสุทธิ์ ท่านว่าบรรลุธรรม ถึงขั้นที่ว่างทั้งภายนอกภายในหมดแล้ว ก็เรียกว่าปล่อยวางหมดโดยสิ้นเชิง ทั้งภายนอกภายในปล่อย ถึงขั้นที่สุดของจิต

พอจิตมันว่างมันวางหมดแล้วท่านว่าถึงขั้นอรหันต์ ถ้ามีธาตุมีขันธ์อยู่นี้ก็เรียกว่าท่านสำเร็จอรหันต์ จิตท่านบริสุทธิ์ แต่อีกอันหนึ่งที่ความบริสุทธิ์นั้นเราจะเรียกอะไรก็เรียกไม่ได้ เลยเป็นธรรมธาตุอยู่ในจิตที่บริสุทธิ์นั่น จิตที่บริสุทธิ์เลยเป็นธรรมธาตุอยู่ในกายตัวเอง เรียกว่าธรรมธาตุ อันนี้แหละอันไม่สูญ บรมสุขก็อยู่ที่จุดนี้ ว่างอะไรก็ว่าง ธรรมธาตุของจิตนี่มันว่างหมดแล้วก็เรียกว่าธรรมธาตุอยู่ในขันธ์นั่นแหละ จิตหากเป็นธรรมธาตุอยู่ในขันธ์ ไม่ได้เหมือนขันธ์ รูปกายอะไรนี่ไม่เหมือน มันว่างหมด เรียกว่าธรรมธาตุ

ท่านผู้ที่สิ้นสุดวิมุตติถึงนิพพานแล้ว จิตของท่านจึงเป็นธรรมธาตุอยู่ภายในร่างกาย ร่างกายนี้เป็นโลกสมมุติทั้งปวง แต่จิตนั้นพ้นจากสมมุติแล้วก็ให้ชื่ออีกว่าจิตบริสุทธิ์ ย้ำเข้าไปก็จิตเป็นธรรมธาตุ ธรรมธาตุนี้ปล่อยอะไรหมดแล้ว ธรรมธาตุนี้ละที่ว่าเป็นของแปลกประหลาดอัศจรรย์ พอปล่อยขันธ์ไปแล้วเราจะเรียกอะไรเรียกไม่ได้ นั่นละการภาวนา จิตฝึกหัดตนเองให้รู้ตนเองด้วยการปฏิบัติของตัวเองเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก รู้ผลงานของตนไปโดยลำดับๆ จนกระทั่งถึงความบริสุทธิ์ เมื่อบริสุทธิ์แล้วก็เป็นธรรมธาตุ

ทีนี้สุด ที่ไปที่มาสุดหมด พอหมดทุกอย่าง นี่ละพอด้วยความบริสุทธิ์ของจิต อิ่มพอด้วยความอัศจรรย์ภายในจิตใจ จิตของท่านผู้สิ้นสุดวิมุตติพระนิพพานแล้วเป็นจิตที่พออย่างอัศจรรย์อย่างนี้ละ ให้พากันจำเอาไว้ จิตที่ล้มลุกคลุกคลานนี่ละเมื่อเราได้ฝึกหัดอบรมบ่อยๆ จะค่อยเปลี่ยนสภาพตัวเองเข้าไปเป็นลำดับลำดา เปลี่ยนไปจนกระทั่งถึงที่สุดหมดสมมุติแล้วก็หมดความเปลี่ยนแปลง จิตนั้นก็เป็นธรรมธาตุ ธรรมธาตุนี้ท่านว่านิพพานเที่ยง ก็คือธรรมธาตุอันนี้เอง ไม่สูญหายไปไหน เที่ยงตรงตลอดกาลสถานที่ ไม่มีเวล่ำเวลาเข้าไปทำลาย ท่านว่านิพพานเที่ยง คือจิตที่ฝึกตนจนถึงขั้นสุดแล้วเรียกว่าจิตเป็นธรรมธาตุ เมื่อจิตเป็นธรรมธาตุแล้วว่านิพพานเที่ยงหรือไม่เที่ยงก็รู้อยู่ในจิตดวงนั้นเอง ให้พากันจำเอา

เราพูดเฉยๆ เราอ่านตามตำรับตำราที่นำมาสอนคนเราเป็นฉันใดสอนเขาก็สอนแบบนั้น ไม่แน่นอนภายในใจ อ่านตำรับตำราตำราท่านว่าอย่างไรก็มาสอนตามตำรา ตัวเองก็ยังไม่รู้ธรรมประเภทที่อ่านมาแล้วนั้น พออ่านตำราแล้วมาอ่านตัวเองทางภาคปฏิบัติจิตก็ค่อยเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตนี้เป็นธรรมทั้งแท่ง ทีนี้ตำราทั้งหมดออกมาจากใจ ดังพระพุทธเจ้านำธรรมมาสอนโลกออกมาจากพระทัย พระสงฆ์สาวกสอนโลกก็สอนออกมาจากใจ ใจที่บริสุทธิ์ ใจมีรสมีชาติ พูดอะไรออกไปเป็นฤทธิ์เป็นเดช ผู้ฟังก็ถึงใจ พูดอย่างที่เราอ่านหนังสือนี้อ่านไปมันก็ไม่ถึงใจนะ พอเราไปเจอสิ่งที่อ่านแล้วมันก็หายสงสัย

นั่นละจิตเมื่อปฏิบัติให้ถึงที่สุดแล้วหายสงสัย มีรสมีชาติเต็มตัว เทศน์ออกไปอะไรคำพูดอะไรเป็นฤทธิ์เป็นเดช เป็นเหตุเป็นผลทุกอย่าง มันขึ้นอยู่กับใจนะ ถ้าใจทรงรสทรงชาติ ทรงเหตุทรงผลเต็มตัว ทรงมรรคผลนิพพานเต็มตัว พูดอะไรออกไปก็เป็นเหตุเป็นผล เป็นรสเป็นชาติไป นั่นละเรียกว่าธรรมสมบัติ คือเราเป็นเจ้าของของธรรมนี้แล้วโดยสิ้นเชิง ไม่มีอะไรสงสัย เรียกว่าธรรมสมบัติ ไปรวมอยู่ที่จิตหมดเลย เอาละพูดเท่านั้นวันนี้

พูดเท่านี้พากันพิจารณาเอา เทศน์อย่างนี้ก็ออกทั่วประเทศไทย จะว่าอย่างไร ใครจะฟังก็ฟังเอา การเทศน์เหล่านี้เราพูดจริงๆ เราไม่ได้ลูบๆ คลำๆ เอามาเทศน์นะ ถอดออกมาจากหัวใจมาเทศน์ให้ผู้ฟังทั้งหลายฟัง ว่าธรรมของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ว่าสวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบแล้วชอบอย่างไร ให้ดำเนินตามธรรมที่ท่านสอนไว้ถูกต้องตามแนวทางก็ถึงเรียกว่าธรรมธาตุ ถึงตรงนั้นแหละ

นี่สอนจริงๆ เราไม่โม้ไม่โอ้ไม่อวด ถอดออกมาจากหัวใจมาสอน เป็นอยู่ในหัวใจแล้วนำมาสอน จึงไม่เคยมีสะทกสะท้าน เพราะธรรมนี้เป็นโลกุตรธรรม ธรรมเหนือโลกเหนือสมมุติไปหมดแล้วจะมาสะทกสะท้านอะไรกับสมมุติ ผ่านไปหมด เหนือโลกแล้ว นั่นละท่านว่าโลกุตรธรรม แปลว่าธรรมเหนือโลกเหนือสมมุติโดยประการทั้งปวง ทีนี้อะไรก็เป็นสมมุติทั้งหมด ธรรมประเภทนี้เหนือหมด จึงไม่มีคำว่ากล้าว่ากลัว คำสะทกสะท้านคำอะไรไม่มี เพราะธรรมชาตินี้เหนือโลกแล้ว เอาละให้พร

รับชมและรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th

สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน  FM 103.25 MHz

และเครือข่ายทั่วประเทศ

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก