วัดป่าบ้านตาด

ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี

วัดป่าบ้านตาด

ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี

ประวัติก่อตั้ง

วัดป่าบ้านตาด เริ่มก่อตั้งเมื่อปี เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๘ ต่อมากระทรวงศึกษาธิการ ประกาศตั้งขึ้นเป็นวัดในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๓ ให้ชื่อว่า วัดเกษรศรีคุณ ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในนาม วัดป่าบ้านตาด ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านบ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ห่างจากตัวเมืองอุดรธานีไปทางทิศใต้ ประมาณ ๑๖ กิโลเมตรโดยมีศรัทธาญาติโยมชาวบ้านตาดถวาย พื้นที่ในกำแพงล้อมรอบประมาณ ๑๖๓ ไร่ และบริเวณรอบกำแพงที่มีผู้ซื้อที่ถวายอีกหลายแปลง ตลอดทั้งทางวัดซื้อที่เพิ่ม อีกประมาณ ๑๔๐ ไร่ รวมประมาณ ๓๐๐ ไร่ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม อันสงบเรียบง่าย ร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่นานาพันธุ์ เป็นสถานที่พึ่งพิงของสัตว์น้อยใหญ่ ในเขตอภัยทานหลากชนิด อาทิ ไก่ป่า กระรอก กระแต กระต่าย เต่า แย้ นก ฯลฯ


เมื่อก้าวย่างเข้าสู่บริเวณวัด จะพบศาลาการเปรียญซึ่งเป็นศาลาไม้หลังใหญ่ เดิมทีเป็นศาลาชั้นเดียวยกพื้นเตี้ย แต่ภายหลังถูกยกให้สูงขึ้น ๒ ชั้น เพื่อจะใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ด้านบนศาลานั้น ให้เป็นที่ประดิษฐาน ของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่เป็นพระประธานของวัด ใช้เป็นที่แสดงธรรมอบรมแก่พระภิกษุสามเณรในวัด ตลอดจนเป็นที่ประชุมทำสังฆกรรมร่วมกัน เช่น สวดพระปาฏิโมกข์ อธิษฐานเข้าพรรษา สวดปวารณา และกรานกฐินเป็นต้น ตู้ด้านขวาขององค์พระประธาน นั้น เป็นที่ประดิษฐานอัฐิธาตุของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของหลวงตามหาบัว รวมทั้งอัฐิธาตุของครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ ส่วนด้านล่างศาลานั้นใช้เป็นที่สำหรับฉันภัตตาหารเช้า สถานที่ที่หลวงตามหาบัวใช้ในการแสดงธรรมเทศนาและปฏิสันถารกับศรัทธาฆราวาสญาติโยม ที่มาจากทุกสารทิศอย่างไม่ขาดสายไม่เว้นแต่ละวัน



สำหรับศาลาใหญ่ด้านนอกกำแพงนั้น สร้างเสร็จเมื่อปลายปี ๒๕๔๔ มีศรัทธาญาติโยมขอสร้างถวาย หลวงตาท่านพิจารณาดูแล้ว เพราะเกี่ยวกับงานช่วยชาติที่จัดหลายๆ ครั้ง เช่น กฐินช่วยชาติเป็นต้น ญาติโยมจากทุกสารทิศไม่มีที่พักอาศัย และที่ร่มบังในเวลามีงานแต่ละวาระ จึงเมตตาให้สร้างเพื่ออาศัยประโยชน์จากจุดนี้

กุฏิของพระภิกษุสามเณรแต่ละรูป เป็นกุฏิเรียบง่าย พอแก่การบังแดด ลม ฝน จะสูงจากพื้นดิน ประมาณ ๑ เมตร เพื่อกันการรบกวนจากสัตว์เลื้อยคลาน ความชื้นจากพื้นดิน ฯลฯ มีขนาดเพียงพอ สำหรับอยู่เพียงองค์เดียว ฝาผนังส่วนใหญ่ใช้จีวรเก่าขึงแทน เพื่อกันลม กันฝน ใช้มุ้งกลดกันยุง ภายในกุฏิจะมีเพียงกลด เสื่อปูนอน ผ้าห่ม เครื่องอัฏฐบริขาร ตะเกียงหรือเทียนไข และของใช้ ที่จำเป็นอื่นๆ ด้านหัวนอนจะมีพระพุทธรูปหรือรูปครูบาอาจารย์ติดไว้ เพื่อกราบไหว้บูชาเป็น กำลังใจในการบำเพ็ญภาวนา ทุกกุฏิจะมีทางเดินจงกรมอย่างน้อย ๑ เส้น ยาวประมาณ ๒๕ ก้าว อยู่ใต้ร่มไม้ดูร่มเย็น ในยามค่ำคืนการเดินจงกรม จะใช้โคมเทียนจุดสว่างพอให้เห็นทาง กุฏิแต่ละหลัง จะมองไม่เห็นกันประหนึ่งว่า อยู่ท่ามกลางป่าเพียง องค์เดียว เพื่อให้สัปปายะสะดวกในการบำเพ็ญ สมณธรรม

กุฏิที่สร้างถาวรมีอยู่รวมประมาณ ๑๐ กว่าหลัง เป็นกุฏิของหลวงตา ภิกษุสูงอายุ กุฏิของญาติโยม ตามปกติญาติโยมทั้งหญิงและชายมักมาขออยู่พัก ปฏิบัติธรรมภาวนา เป็นช่วงเวลาสั้นๆ โดยเฉลี่ยอยู่ในระหว่าง ประมาณ ๕๐-๑๐๐ คน จัดแยก เขตกันระหว่างพระภิกษุสามเณร ญาติโยมชายและหญิงอย่างเป็นระเบียบ


สำหรับวัดป่าบ้านตาดนี้ หลวงตาท่านเน้นย้ำถึงเรื่องมหาภัย ๕ ประเภทที่ไม่ให้พระเกี่ยวข้องเด็ดขาด คือ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ วิดิโอ โทรศัพท์ เพราะเป็นอุปสรรคต่อการบำเพ็ญสมณ ธรรมโดยตรง อีกทั้งไฟฟ้า ก็ไม่ให้ต่อเข้ามาในวัด มีเพียงเครื่องปั่นไฟ เพื่อใช้ในบางกาล ที่ประชาชนมาทำบุญมาก เป็นกรณีพิเศษในวันสำคัญทางศาสนาเท่านั้น

กิจวัตรประจำวันหลักของพระเณรก็คือ การนั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรม เพื่อฝึกสติปัญญา และชำระกิเลสตัวร้อนรุ่มกระวนกระวายภายในจิตใจให้เหือดแห้งไป พระในวัดนี้จะไม่รับกิจนิมนต์ ไปฉันในที่ต่างๆ เพื่อมีเวลาสำหรับบำเพ็ญเพียรภาวนาเพียงอย่างเดียว

นโยบายและระเบียบปฏิบัติ

๑. ด้านจิตภาวนา

พระภิกษุสามเณร
วัดป่าบ้านตาด ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ เป็นสถานที่ที่สงบสงัด อุดมด้วยต้นไม้ร่มเย็น เหมาะแก่การบำเพ็ญจิตตภาวนา หลวงตาท่านจึงเข้มงวดกวดขันต่อพระภิกษุสามเณร ที่เข้ามาพักปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง พระภิกษุสามเณรจะต้องรักษาธรรมวินัย และข้อวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จริงจัง ระยะแรกมีพระที่จำพรรษาไม่มาก ประมาณ ๑๐-๑๕ รูป ต่อๆ มาก็รับเพิ่มขึ้น กระทั่งปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ ๕๐ รูป


ฆราวาส
ในระยะแรกหลวงตาท่านไม่รับฆราวาสที่มุ่งมาปฏิบัติธรรม แต่เมื่อมีผู้สนใจมากขึ้นๆ ท่านจึงอนุโลมผ่อนผัน มีฆราวาสทั้งชายและหญิง ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มุ่งมาพักปฏิบัติธรรมจำนวนมากในปัจจุบัน ทางวัดจัดให้มีเขตชาย-หญิงชัดเจน ไม่คลุกเคล้าปะปนกัน ผู้มุ่งมาปฏิบัติธรรมล้วนแต่อยู่ในความสงบสำรวม ตามกฎระเบียบของวัดที่มุ่งเน้นด้านจิตตภาวนา ระยะเวลาที่ให้พัก ทางวัดไม่ให้อยู่ถาวร แต่อนุญาตให้อยู่พักได้ไม่เกิน ๗-๑๐ วันสำหรับผู้มุ่งมาทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ หลวงตาท่านจะแสดงธรรมเป็นประจำวันทุกวัน การบิณฑบาตจะเริ่มประมาณ ๖.๐๐ น. เริ่มฉันประมาณ ๗.๐๐ น. พระภิกษุสามเณรที่วัดป่าบ้านตาดนี้ฉันเพียงวันละมื้อเดียวเท่านั้น เพื่อมิให้เป็นความกังวลและเสียเวลา หลวงตาจะเริ่มเทศนาประมาณ ๗.๓๐ น. หากมีคณะผู้แสวงบุญจากทั่วทุกสารทิศมุ่งมาฟังเทศน์ของหลวงตา ในยามบ่ายหลังจากท่านกลับจากการเดินทางเพื่อมุ่งสงเคราะห์โรงพยาบาล ฯลฯ ท่านมักจะเมตตาเทศนาแก่คณะดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

๒. ด้านสงเคราะห์โลก

โรงพยาบาล โรงเรียน หน่วยราชการ สถานสงเคราะห์ ฯ
หน่วยงานต่างๆ เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายทำสาธารณประโยชน์ต่างๆ แต่ขาดแคลนงบประมาณ ต่างมุ่งหน้าเข้ามาขอการสงเคราะห์จากหลวงตา ท่านจะพิจารณาถึงความจำเป็นเร่งด่วนมากน้อยเพียงไร หากพิจารณาแล้วเป็นที่ลงใจ และท่านมีปัจจัยเพียงพอที่จะให้การอนุเคราะห์ ท่านจะช่วยเหลือทันที เพราะจตุปัจจัยไทยทานที่บริจาคเข้ามาที่วัดป่าบ้านตาด หลวงตาท่านไม่เคยเก็บสั่งสมไว้ ท่านมุ่งสงเคราะห์ช่วยเหลือกระจายไปทั่วประเทศไทย

การบริจาคช่วยชาติ
มีประชาชนเข้ามาวัดเพื่อบริจาคช่วยชาติประจำวันจำนวนไม่น้อย เพื่อนำเงินดอลลาร์-ทองคำเข้าสู่คลังหลวง ซึ่งเป็นหัวใจของชาติ เพราะเป็นเงินทุนสำรองของประเทศ เป็นการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทของชาติ เป็นเครดิตในการติดต่อซื้อขายระหว่างประเทศ ประชาชนที่เห็นถึงความสำคัญของคลังหลวง ต่างมุ่งหน้ามาบริจาคกับหลวงตาทั้งที่วัด และทางบัญชีธนาคาร

และมีไม่น้อยที่เป็นหน่วยงานต่างๆ ที่ทำหนังสือนิมนต์หลวงตาเพื่อขอความเมตตาให้ท่านเดินทางไปเทศนาและรับผ้าป่าช่วยชาติในสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย

แผนที่และการเดินทาง

วัดป่าบ้านตาด
   • แผนที่การเดินทาง
    1. แผนที่แสดงที่ตั้งวัดป่าบ้านตาด
    2. แผนที่จังหวัดอุดรธานี
    3. แผนที่แคว้นอีสานเหนือ
    4. แผนที่แคว้นอีสาน

การเดินทางไปวัดป่าบ้านตาด
1. เครื่องบิน
     - มีเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ - อุดรธานี ทุกวัน วันละ 9 เที่ยวบินดังนี้
        1)  นกแอร์ เวลา 06.00 น.
        2)  แอร์เอเชีย เวลา 06.25 น.
        3)  ไทยสมายล์ เวลา 07.00 น.
        4)  ไทยเวียดเจ๊ทแอร์ เวลา 08.30 น.
        5)  ไทยไลอ้อนแอร์ เวลา 10.50 น.
        6)  แอร์เอเชีย เวลา 12.00 น.
        7)  ไทยสมายล์ เวลา 12.15 น.
        8)  ไทยสมายล์ เวลา 18.00 น.
        9)  นกแอร์ เวลา 19.10 น.

     - มีเที่ยวบินระหว่างอุดรธานี - กรุงเทพฯ ทุกวัน วันละ 9 เที่ยวบินดังนี้
        1)  นกแอร์ เวลา 07.35 น.
        2)  แอร์เอเชีย เวลา 08.00 น.
        3)  ไทยสมายล์ เวลา 08.40 น.
        4)  ไทยเวียดเจ๊ทแอร์ เวลา 10.10 น.
        5)  ไทยไลอ้อนแอร์ เวลา 12.45 น.
        6)  แอร์เอเชีย เวลา 13.40 น.
        8)  ไทยสมายล์ เวลา 19.40 น.
        9)  นกแอร์ เวลา 20.45 น.

 

2. รถไฟ
(หมายเหต : กรุณาตรวบสอบกับการรถไฟแห่งประเทศไทยก่อน ก่อนการเดินทาง)

     - มีการเดินรถระหว่างกรุงเทพฯ - อุดรธานี ทุกวัน โดยออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ
ตามเวลาดังนี้
1) เวลา 06.00 น. ขบวนรถเร็ว กรุงเทพฯ - หนองคาย
2) เวลา 08.20 น. ขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ กรุงเทพฯ - อุดรธานี
3) เวลา 18.30 น. ขบวนรถเร็ว กรุงเทพฯ - หนองคาย
4) เวลา 20.00 น. ขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ กรุงเทพฯ - หนองคาย
5) เวลา 20.45 น. ขบวนรถด่วน กรุงเทพฯ - หนองคาย

     - มีการเดินรถระหว่างอุดรธานี - กรุงเทพฯ ทุกวัน โดยออกจากสถานีรถไฟอุดรธานี
ตามเวลาดังนี้
1) เวลา 07.26 น. ขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ หนองคาย - กรุงเทพฯ
2) เวลา 09.15 น. ขบวนรถเร็ว หนองคาย - กรุงเทพฯ
3) เวลา 18.35 น. ขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ อุดรธานี - กรุงเทพฯ
4) เวลา 19.04 น. ขบวนรถเร็ว หนองคาย - กรุงเทพฯ
5) เวลา 20.02 น. ขบวนรถด่วน หนองคาย - กรุงเทพฯ
3. รถทัวร์

     - มีรถบัสปรับอากาศออกจากบริษัททัวร์สายตะวันออกเฉียงเหนือหลายบริษัท ที่สถานีขนส่งหมอชิต ถนนกำแพงเพชร เขตจตุจักร กทม 10900
หมายเหต : ก่อนเข้าเมืองอุดรธานี ให้ลงบนถนนใหญ่มีป้ายว่า " บ้านคำกลิ้ง " จะมีรถ SKY LAB ( รถมอเตอร์ไซด์ที่มีรถพ่วงสำหรับผู้โดยสารนั่ง ) เข้าไปถึงวัดใช้เวลาเพียง 10 นาที

การเดิมทางไปสวนแสงธรรม

    - ขึ้นรถประจำทางเบอร์ 165 ที่ท้องสนามหลวง รถจะผ่านหน้าสวนแสงธรรม ถนนพุทธมณฑลสาย 3    • แผนที่การเดินทาง
    แผนที่แสดงที่ตั้งสวนแสงธรรม

บรรยากาศภายในวัดป่าบ้านตาด

สิ่งแวดล้อมภายในวัด
ศาลา, โกดังโรงทาน, กุฏิ, สัตว์ และบรรยากาศภายในวัดป่าบ้านตาด
 
ภาพชุดหลวงตา เมตตา สัตว์
หลวงตาท่านมีเมตตาที่ยิ่งใหญ่ กว้างขวาง และทั่วถึงกระจายครอบไปหมด ไม่เว้นแม้กระทั่งสัตว์ ไม่ใช่เพียงแค่ความสงสารสรรพสัตว์เท่านั้น แต่ท่านยังให้การสงเคราะห์ทางด้านวัตถุ ด้วยการจัดข้าว-อาหารแก่สัตว์ทั้งหลาย ทั้งในวัด นอกวัด และในสถานที่ต่างๆ อย่างไม่มีประมาณ